วันที่ 21 / .. / 2567

การท่องเที่ยว

"มุมมองการท่องเที่ยวเพชรบูรณ์"

     ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ ในมุมมองของผมเห็นว่าเพชรบูรณ์ของเรานั้นมีความหลากหลายในการท่องเที่ยว แต่ขาดการพัฒนาและการร้อยเรียงจัดให้เป็นระบบและนำมาเสนอเป็นรูปธรรม เรื่องนี้ได้พูดกันมาเนิ่นนานแต่ยังไม่มีใครทำให้เป็นรูปธรรมเลย เพราะฉะนั้นลำดับต่อไปนี้ จึงของนำเสนอศักยภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งหมด 9 ประการด้วยกันคือ

     1. ภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้ง
     2. ธรณีวิทยา
     3. โบราณสถาน
     4. ศิลปวัฒนธรรมประเพณี
     5. อาหาร
     6. ธรรมชาติ
     7. ประวัติศาสตร์การเมือง
     8.
บุคคลสำคัญ
     9. การเกษตร 

     1.ภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้ง อยู่ระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง มีภูเขาล้อมรอบ มีภูมิประเทศที่สวยงามมองรอบทิศทางจะสามารถมองเห็นภูเขารอบตัว จุดที่ตั้งของจังหวัดเป็นรอยต่อของภาคเหนือและภาคอีสาน จึงน่าจะหยิบยกเอาสะพานห้วยตองหรือสะพานพ่อขุนเมืองซึ่งเป็นสะพานที่มีตอม่อสูงที่สุดในประเทศไทยมาสถาปนาให้เป็นตัวสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนจุดหนึ่งเป็นเรื่องบังเอิญคือรูปร่างแผนที่ของจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อดูให้ดี จะเหมือนกับฝักมะขามหวานพันธ์ประกายทองซึ่งตรงกับเอกลักษณ์ที่ว่า เพชรบูรณ์เป็นเมืองมะขามหวาน


 
ลักษณะความเติบโตของเมืองต่าง ๆ ในจังหวัดจะมีความเจริญที่ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในตัวเมืองใหญ่ แต่ความเจริญกระจายไปในแต่ละอำเภอมีขนาดไม่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหล่มสัก วิเชียรบุรี บึงสามพัน หนองไผ่ ก็จะมีความใหญ่ความเจริญใกล้เคียงกันกับตัวจังหวัด ซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญของแผนการพัฒนาเมืองที่ควรจะต้องดำรงเอาไว้ ไม่ใช่โตแต่หัวแล้วตามตำบลหมู่บ้านก็จะมีขนาดเล็กมาก เมืองระดับตำบลอย่างเช่น ตำบลวังชมภู ตำบลท่าพลตำบลนาเฉลียง ถึงแม้จะเป็นตำบลแต่ความเจริญก็เทียบเท่าอำเภอในหลายจังหวัด

     2.ธรณีวิทยา มีจุดที่น่าสนใจก็คือเพชรบูรณ์เป็นรอยต่อของผืนอนุทวีปสองผืนมาชนกัน ได้แก่ผืนดินโบราณ อินโด-ไชน่า ทางฝั่งภาคอีสานและผืนแผ่นดินใหม่ทางฝั่งภาคเหนือตอนล่าง ชาน-ไทย จากเหตุการณ์นี้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของธรณีวิทยาที่น่าสนใจหลายแห่ง ตั้งแต่เรื่องมีรายงานการพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชที่อำเภอน้ำหนาว ซึ่งพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินโบราณที่ราบสูงโคราชเป็นส่วนที่ต่อเนืองมาจากทางภูเวียงของจังหวัดขอนแก่น

 

นอกจากนั้นยังมีเสาหินดึกดำบรรพ์ที่บ้านโนนน้ำเดื่อด อำเภอวิเชียรบุรี ส่วนแนวหินที่เป็นรอยชนกันของอนุทวีปทำให้เกิดน้ำพุร้อนมากมายเช่น น้ำพุร้อนที่อ.เมืองที่บ้านน้ำร้อนหรือบ่อน้ำร้อนที่ตำบลพุเตย นอกจากนั้นมีสุสานหอยซึ่งตอนนี้ยังขาดการดูแล ก็คงจะได้มีการประสานงานให้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เพชรบูรณ์ ได้ทำหน้าที่เข้าไปดูแลทำถนนเข้าไป

ขณะเดียวกันเรามีฟอสซิลปลามีประวัติมาตั้งแต่ยุคไมโอซีน ประมาณ 10 กว่าล้านปี ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจพบได้ที่อำเภอหล่มสักก็ดี และตำบลท่าพลที่พบล่าสุด นอกจากนั้นขอบแผ่นดินโบราณที่บริเวณผาแดงเป็นจุดที่น่าสนใจมากเพราะเป็นส่วนที่หินทรายของอนุทวีปทางฝั่งอีสานยกตัวสูงขึ้นมาเป็นหน้าผาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


 
อกจากนั้นของทางด้านเหนือก็จะมีภูหินร่องกล้า มีปรากฏการณ์หินที่มีการกัดเซาะของน้ำและลมมีความประหลาด พิสดารและสวยงามมาก เรามีหินคลอนหรือศัพท์วิชาการเรียกว่า มวลสารพอก ซึ่งเป็นลักษณะหิน แต่เมื่อเขย่าดูแล้วจะมีเสียงดังและเมื่อกะเทาะหินออกก็จะมีสารที่อยู่ในนั้นมีทั้งสีแดง เหลือง ขาว เป็นที่น่าอัศจรรย์ อีกเรื่องคือเหมืองทองคำที่อำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน ถือเป็นศักยภาพที่ทางธรณีวิทยาที่เราน่าจะดำเนินการร้อยเรียงออกมา สำหรับผู้ที่สนใจและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

นอกจากนั้นเรายังมีเรื่องดาราศาสตร์ที่น่าสนใจคือมีอุกกาบาตร่องดู่ที่ตกลงมาเป็นก้อนโลหะขนาดใหญ่พอสมควรเป็นจุดที่น่าสนใจ

     3.โบราณสถาน มีความหลากหลายยุคหลายสมัยเริ่มตั้งแต่สมัยที่เก่าที่สุดตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีหลักฐานทางโบราณคดีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่อำเภอวังโป่ง เช่นที่ ถ้ำเขาขาด ดอยน้ำโจก เป็นต้น สมัยทราวดีโยงมาถึงยุคสมัยอาณาจักรขอมเรืองอำนาจได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตรงนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของความเป็นมาศิลปะต่าง ๆ เรายังมีถ้ำที่เขาถมอรัตน์ ซึ่งยังขาดการดูแลบำรุงรักษาอยู่เป็นประวัติที่น่าสนใจระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์เข้ามาเชื่อมต่อกัน

 

นอกจากนั้นก็ยังมีประวัติศาสตร์ในยุคสุโขทัยซึ่งปรากฏร่องรอยอยู่มากมายที่วัดมหาธาตุที่มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบินฑ์และมีโบราณวัตถุต่างๆที่ขุดค้นพบในสมัยนั้น มีการขุดค้นพบจารึกลานทองคำที่กล่าวถึงการสร้างเมืองเพชปุระเอาไว้ด้วย ซึ่งบ่งบอกถึงอาณาจักรสุโขทัยที่มีอิทธิพลต่อเมืองเพชรบูรณ์ในช่วงนั้นโดยมีวัดมหาธาตุเป็นจุดศูนย์กลางและมีสันคูเมืองล้อมรอบเป็นเขตเมืองเก่า ยุคสมัยอยุธยามีปรากฏร่องรอยมากมายมีวัดไตรภูมิเป็นจุดศูนย์กลาง วัดพระแก้ว เจดีย์สมัยอยุธยา เป็นแบบเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งตรงนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่แนวกำแพงเมืองเก่าแบบก่ออิฐถือปูนประกอบศิลาโดยมีการสร้างควบคู่กันไปกับลำแม่น้ำป่าสัก ยังมีปรากฏร่องรอยอยู่ทั้ง 4 ด้าน

เสาหลักเมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตามประวัติศาสตร์นั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เชิญใบเสมาหินทรายมาจากเมืองเก่าศรีเทพแล้วมาตั้งเป็นเสาหลักเมืองของเพชรบูรณ์ไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเสาหลักเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย เรายังมีประวัติศาสตร์ตำนานเรื่องข้าวสารดำที่อ.หล่มสัก บ้านห้วยโป่ง ซี่งพบได้เวลาฝนตกสามารถไปเก็บได้ตามพื้นดิน ซึ่งมีตำนานที่เกี่ยวข้องไปถึงสมัยพ่อขุนผาเมือง พระนางสิงขรเทวีเผาเมืองราด เรายังมีเมืองนครเดิดอยู่ตำบลลานบ่า ซึ่งมีร่องรอยของกำแพงเมืองโบราณซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงที่กำลังรอนักประวัติศาสตร์มาสำรวจค้นหาว่าเป็นเมืองยุคสมัยไหนต่อไป นอกจากนั้นยังมีจิตรกรรมฝาผนังวัดนาทราย อำเภอหล่มเก่า ซึ่งถือว่ามีคุณค่าสำคัญที่สุดในเรื่องของจิตรกรรมฝาผนัง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตคนไทย ค่านิยมของคนสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ยังขาดการอนุรักษ์อยู่

    4.ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีประเพณีอุ้มพระดำน้ำซึ่งมีตำนานเชื่อมโยงไปถึงองค์พระพุทธมหาธรรมราชาซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกของคนเพชรบูรณ์โดยแท้ โดยจะจัดขึ้นทุกวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ในประเพณีอุ้มพระดำน้ำจะมีการแข่งขันเรือยาวซึ่งมีลักษณะพิเศษเป็นการแข่งพายเรือทวนน้ำที่ลำแม่น้ำป่าสักที่มีความเชี่ยวกราก เป็นสิ่งที่แปลกและสนุกสนานมาก


นอกจากนั้นยังมีงานมะขามหวานเป็นประจำปีจะมีการนำมะขามหวานมาแสดงให้นักท่องเที่ยวและเป็นการฟื้นฟูเชิดชูเกษตรกรที่ปลูกมะขามหวาน ขณะเดียวกันเทศกาลเส็งกลอง ล่องโคมไฟ ไหว้พ่อขุนผาเมือง ที่อำเภอหล่มสักเป็นงานเชิดชูวีรกรรมของพ่อขุนผาเมือง งานบวงสรวงศาลสมเด็จพระนเรศวร อำเภอวิเชียรบุรี ตามประวัติศาสตร์นั้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้กรีฑาทัพผ่านพื้นที่จุดนี้ ประเพณีการแข่งเรือยาวลาพรรษาที่อำเภอหล่มเก่า และประเพณีนี้ปีใหม่บ้านเข็กน้อย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยล้วนแต่น่าสนใจ นอกจากนั้นยังมีดนตรีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์คือ วงตุ๊บเก่ง มีภาษาท้องถิ่นที่ไม่มีที่ไหนเหมือน คือ ภาษาหล่ม ภาษาสะเดียง ภาษาชาวบน ซึ่งเป็นภาษามอญโบราณอยู่ตามบนเขาทางทิศตะวันออกของทางจังหวัด มีประเพณีพื้นบ้านก่อเจดีย์ทรายกลบธาตุของชาวบ้านสะเดียง ซึ่งมีเอกลักษณ์การก่อเจดีย์ทรายที่เชื่อมโยงถึงการทำบุญ ถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีการละเล่นพื้นบ้านชาววิเชียรบุรีคือ การรำโจ๋ง ฯลฯ

 
     
     5.อาหาร เอกลักษณ์มะขามหวานมีรสชาติที่ดีที่สุดในไทย มีหลายพันธ์ เช่น ประกายทอง สีทอง หมื่นจง สีชมภู อินทผาลัม ฯลฯ มีการพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์จากมะขามหวานและมีการถนอมมะขามหวานให้สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี ไก่ย่างวิเชียรบุรีก็เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างที่มีรสชาดอร่อยไม่มีใครเหมือน โดยเฉพาะเทคนิคการย่างที่ไม่เหมือนใคร เทศกาลขนมจีนหรือขนมเส้นหล่มเก่า ขนมจีนหรือภาษาท้องถิ่นเรือขนมเส้นนั้นเป็นเอกลักษณ์ของชาวหล่มเก่า ซึ่งลักษณะการทำจะมีการจับเส้น โรยเส้นที่ไม่มีใครเหมือน ในขณะที่น้ำยาส่วนประกอบสำคัญจะไม่เหมือนที่ไหน เรายังมีปิ้งไก่ข้าวเบือเป็นไก่ย่างชนิดพิเศษแบบพื้นเมือง โดยมีการนำข้าวเบือและเครื่องแกงมาทาไว้ที่ไก่ย่างทำให้มีรสชาติไม่เหมือนที่ไหน รวมทั้งลาบเป็ดที่หล่มสักซึ่งมีความอร่อยเป็นอาหารพื้นเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาก


 
     6.ธรรมชาติ แหล่งที่ขึ้นชื่อได้แก่เขาค้อซึ่งมีความสวยงามทางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นทะเลภูเขา เทือกเขาสลับซับซ้อน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย ไม่ว่าช่วงฤดูหนาวหรือฤดูร้อนนักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจมาท่องเที่ยวกันมิได้ขาด โดยมีสถานที่เที่ยวเที่ยวอาทิ น้ำตกศรีดิษฐ์ แก่งบางระจัน พระตำหนักเขาค้อ อนุสรณ์ผู้เสียสละ ผาซ่อนแก้ว แต่ที่ผ่านมาเขาค้อยังขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวตลอดปี จนสามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวถือว่าเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย มีสัตว์ป่ามากมาย ช่วงฤดูหนาวจะมีปรากฏการณ์ต้นไม้เปลี่ยนสีเป็นสีแดงและเหลืองที่เรียกว่า ป่าเปลี่ยนสี และยังมีถ้ำใหญ่น้ำหนาว มีน้ำตกต่างๆอีกหลายแห่ง เหมาะกับการท่องเที่ยวประเภทเชิงอนุรักษ์และแบบแคมป์ปิ้ง มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและตก ส่วนน้ำตกในเพชรบูรณ์มีหลายแหล่ง ระบุที่มีความสวยงามมากเช่น น้ำตกตาดหมอก อ.เมือง น้ำตกธารทิพย์ น้ำตกตาดฟ้าที่อำเภอหล่มสักและน้ำตกซับชมภู อ.หนองไผ่นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำป่าแดง อ่างเก็บน้ำห้วยเฉลียงลับ อ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น และกำลังจะสร้างอีกหลายแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจท่องเที่ยวได้ ที่ทับเบิกเป็นหมู่บ้านม้งที่อำเภอหล่มเก่า มีจุดชมวิวที่สวยที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ จุดนี้หากมองลงไปที่หุบเขาน้ำก้อจะเหมือนทะเลภูเขาเลย โดยเฉพาะในยามที่มีเมฆหมอกปกคลุมนักท่องเที่ยวจะประทับใจมาก หนองน้ำสาธารณะในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์มีหลายแห่ง เช่น หนองนารี อ.เมือง หนองแค อ.หล่มสัก บึงสามพันที่ อ.บึงสามพัน ตรงนี้น่าจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แมงกะพรุนน้ำจืดที่อำเภอเขาค้อซึ่งมีความน่าสนใจเรื่องชีววิทยา น่าเป็นแหล่งศึกษาของเยาวชนในเรืองวงจรชีวิตของสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีพัฒนาการที่น่าสนใจมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นดัชนีการชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม

     7.ประวัติศาสตร์การเมือง ในสมัยโบราณตั้งแต่สมัยศรีเทพซึ่งปรากฏหลักฐานว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ในสมัยขอมเรืองอำนาจ ต่อมาในยุคเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง ในสมัยสุโขทัยมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง และสมัยอยุธยามีวัดไตรภูมิและแนวกำแพงเมืองรวมทั้งเจดีย์เป็นหลักฐาน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการยกฐานะให้เป็นเพชรบูรณ์มณฑลนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย เพราะการปกครองสมัยก่อนนั้นแบ่งเป็นมณฑลและเมือง แต่เพชรบูรณ์ถูกตั้งเป็นมณฑล มีพระเจ้าลูกยาเธอที่ทรงกรมก็คือ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย เพราะฉะนั้นเพชรบูรณ์มีฐานะถึงขนาดเมืองลูกหลวงทรงกรม จึงถือได้ว่ามีความสำคัญทางการเมืองการปกครองอย่างยิ่ง นอกจากนี้ประวัติศาสตร์การเมืองในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องนครบาลเพชรบูรณ์


ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มีแผนที่จะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2486 –2487 มีการย้ายกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ มาอยู่ที่เพชรบูรณ์อย่างมากมาย มีการตั้งเสาหลักเมืองหลวงที่ตำบลบุ่งน้ำเต้าและมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน การตัดถนน การสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สุดท้ายที่จะต้องพูดถึง ในหมวดประวัติศาสตร์การเมืองคือเรื่องสมรภูมิเขาค้อ ซึ่งเป็นสมรภูมิทีมีการต่อสู้กัน ในเรื่องของลัทธิทางการเมืองจนไปถึงการต่อสู้ที่เสียเลือดเสียของคนไทยไปอย่างมาก ตรงนี้ก็น่าจะมีการรื้อฟื้นทำเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางด้านการเมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย

 
     
8.บุคคลสำคัญ วีรกษัตริย์ของเราก็คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรแห่งแรกของคนไทยของเราขึ้นมาบนแผ่นดินสุวรณภูมิแห่งนี้ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญมีความเสียสละ เป็นผู้ที่มีความชาญฉลาดซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีของชาวเพชรบูรณ์ มีสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ได้เคยกรีธาทัพผ่านมาทางเพชรบูรณ์ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็เคยมาพักทัพไว้ที่วัดมหาธาตุ อ.เมืองเพชรบูรณ์ จนกระทั่งเกิดตำนานหลวงพ่อเพชรมีชัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้สร้างเมืองเพชรบูรณ์ยุคใหม่โดยการสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ เกจิอาจารย์ชื่อดังและเป็นที่นับถือมากคือ หลวงพ่อทบ นอกจากนั้นเรายังเป็นดินแดนแห่งแชมป์เปี้ยนโลก เรามีแชมป์เปี้ยนโลกหลายคนตั้งแต่ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เขาค้อ – เขาทราย แกแลคซี่ สองแชมป์เปี้ยนโลกคู่แผดชาวไทย และชนะ ป.เปาอินทร์ นอกจากนี้ยังมีนักมวยสมัครเล่น นักมวยไทยหลายคนที่ไปจากเพชรบูรณ์

     9.การเกษตร ที่จะต้องกล่าวถึงลำดับแรกก็คือ มะขามหวานเป็นไม้เอกลักษณ์และผลไม้เอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวเพชรบูรณ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องมีการบำรุงพันธุ์ พัฒนาพันธุ์ แล้วก็ส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้เรายังมีบริษัทจุลไหมไทยซึ่งเป็นโรงงานสาวไหมเส้นยืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเพชรบูรณ์เป็นอย่างมาก ที่น่าสนใจคือว่าเราไม่มีการทอผ้าไหม แต่เราจะเป็นปลูกหม่อนเลี้ยงไหมซึ่งเป็นไหมชนิดพิเศษคือไหมเส้นยืน ไม่ใช่ไหมเส้นพุ่งเหมือนทางภาคอีสานซึ่งจะเป็นเส้นสั้นๆ นอกจากนั้นบริษัทจุลไหมไทยยังได้ปลูก สละ ส้ม ส้มโอ และผลิตภัณฑ์จากปลา เหมาะที่จะเป็นของฝากนักท่องเที่ยวอย่างมาก อีกประการหนึ่งก็คือพืชผักเมืองหนาว ที่ไร่ บีเอ็น ทำการปลุกดอกไม้ ผลไม้เมืองหนาวหลายอย่าง เรามีตลาดผักที่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นตลาดกลางผักที่ใหญ่มากที่จะส่งไปส่วนต่าง ๆ ในประเทศ มีโรงงานขิงที่จะมีการรับซื้อขิงกับผู้ที่ปลูกมาทำการดองแล้วส่งขายที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่อำเภอหล่มสักและหล่มเก่า ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ สัญลักษณ์ของเพชรบูรณ์อีกอย่างก็คือ ใบยาสูบเรามีการปลูกใบยาสูบทั้งสองลักษณะไม่ว่าจะเป็นยาพันธุ์เบอร์เล่ย์ ซึ่งส่งให้โรงงานยาสูบแล้วก็ยาฟันซึ่งนำมาผลิตเป็นยาฉุนจำหน่าย มีการปลูกมากและได้ชื่อว่าเป็นใบยาดีที่เมืองเพชรบูรณ์ ศักยภาพประการสุดท้ายก็คือ เรื่องพืชผลที่เป็นหลักสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจในจังหวัดก็คือข้าวโพด จังหวัดเพชรบูรณ์ปลูกข้าวโพดมากที่สุดในประเทศไทย เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วก็ยังมีถั่วเขียวทีเรียกว่า ถั่วมัน หรือถั่วเขียวผิวมัน อันนี้เราก็ปลูกมากที่สุดก็ถือเป็นอาชีพหลักของชาวเพชรบูรณ์

....... ทั้ง 9 หัวข้อนั้นผมอยากจะบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่า เรามีศักยภาพในเรื่องใดบ้าง ส่วนการจะนำมาร้อยเรียงนำมาจัดให้เป็นกระบวนการหรือให้เป็นรูปธรรมนั้น คงต้องรอเวลาที่ชาวเพชรบูรณ์จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้และนำเสนอเพื่อนำความเจริญมาสู่เมืองเพชรบูรณ์ของเราต่อไป...