วันที่ 22 / .. / 2568

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ แรม 15 ค่ำ เดือน 10

 

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑


          งานประเพณี "อุ้มพระดำน้ำ" ของจังหวัดเพชรบูรณ์ คนทั่วไปต่างมองว่า เป็นประเพณีที่แปลกมีคุณค่า ทางวัฒนธรรม ที่สำคัญมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก แต่สำหรับชาวเพชรบูรณ์นอกจากจะมีมุมมองเช่นนั้นแล้ว ยังแฝงไปด้วยความเชื่อที่เปี่ยมล้นเต็มหัวใจด้วยว่า "เป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งหลังประกอบพิธีกรรม ดังกล่าวแล้ว จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์ และยังปราศจาก โรคระบาดอีกด้วย" ซึ่งความเชื่อดังกล่าวสืบเนื่องมาจากตำนานที่ถูกเล่าขานกันมานานกว่า

         

           เมื่อ 400 ปีที่ทำให้ก่อกำเนิดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้น โดยมีการเล่าสืบทอดกันต่อ ๆ มา ว่า เดิมมีชาวประมงกลุ่มหนึ่งมีอาชีพจับปลาในแม่น้ำป่าสัก อยู่มาวันหนึ่งชาวประมงกลุ่มนี้ ได้ออก หาปลาตามปกติเช่นทุกวัน แต่จู่ๆเกิดเหตุการณ์ ประหลาดขึ้นตั้งแต่เช้ายันบ่ายไม่มีใคร สามารถจับปลา ได้แม้แต่ตัวเดียว จนสร้างความงุนงงให้กับชาวประมงกลุ่มนี้มาก ทำให้ต่างก็ต้องไปนั่งปรับทุกข์ซึ่งกัน และกัน  แต่ทันใดนั้นก็ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้น เนื่องจากกระแสน้ำในบริเวณ "วังมะขามแฟบ" (หมายถึงต้นระกำ) ที่กำลังไหลเชี่ยวกราก เริ่มหยุดนิ่งอยู่กับที่  จากนั้นก็ค่อย ๆ มีพรายน้ำผุดขึ้นมา ทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จนกระทั่งกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ค่อย ๆ ดูดเอาองค์พระพุทธรูป องค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ และมีลักษณะอาการคล้ายดำผุดดำ ว่ายอยู่ตลอดเวลา ทำให้ชาวประมง กลุ่มนี้ต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าว  ขึ้นมาประดิษฐานไว้บนบกเพื่อกราบไหว้สักการะบูชา แต่ในปีถัดมาซึ่งเป็นวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบตรงกับวันประเพณีสารทไทย  พระพุทธรูปดังกล่าวไว้ หายไปจนกระทั่งชาวบ้าน ต้องช่วยกันระดมหากันจ้าระหวั่น จนในที่สุดไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าว กลางแม่น้ำป่าสักบริเวณวังมะขามแฟบ สถานที่ชาวประมงพบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรก  กำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่ายอยู่จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิเป็นครั้งที่สอง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา"


             หลังจากนั้นต่อมาเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ในยุคสมัยนั้น จะต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ไปประกอบพิธี "อุ้มพระดำน้ำ" ที่บริเวณวังมะขามแฟบ หน้าวัดโบสถ์ชนะมารเป็นประจำทุกปี   "เพราะต่างมีความเชื่อว่า หลังประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว จะทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีความอุดมสมบูรณ์ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ผลดี แต่หากปีใดมีการละเลย นอกจากจะทำให้เกิดความแห้งแล้งแล้ว ยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกด้วย"

  

             สำหรับ  "พระพุทธมหาธรรมราชา" นั้นเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี  หล่อด้วยเนื้อทอง สัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง 13 นิ้วสูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน  มีพุทธลักษณะ พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ  พระกรรณยาวย้อย จนจรดพระอังสาที่พระเศียรทรงชฎาเทริดหรือมีกระบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัด และประคตเป็นลวดลาย งดงามอีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง  ส่วนประวัติการสร้างนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อว่า พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งนครธม ให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  หลังจากทรงอภิเษกสมรสกับ พระนางสิงขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (อ.นครไทย) พระสหาย กอบกู้อิสรภาพ ให้กับคนไทย ทำให้พระนางสิงขรมหาเทวี แค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับจากนั้นตัดสินใจกระโดด แม่น้ำป่าสักฆ่าตัวตาย ทำให้ไพร่พลเสนาอำมาตย์ ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก เพื่อหลบหนีไฟ แต่ปรากฎว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยว และกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ทำให้แพที่อัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชาแตก จนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไป กระทั่งต่อมาชาวประมงได้ไปพบ จนก่อให้เกิด ตำนานมหัศจรรย์และ "ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ" ขึ้น

            ปัจจุบันนี้ หากปีใดน้ำน้อย ก็จะอัญเชิญไปสรงน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ทางเหนือเมือง เพชรบูรณ์  และการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงสรงน้ำ เจ้าเมืองผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น หรือผู้แทนเป็นผู้อัญเชิญ (อุ้ม)  ลงสรงน้ำและถือปฏิบัติกันต่อๆ มา ว่าอุ้มหันพระเนตรขึ้นเหนือน้ำ 3 หน หันพระเนตรลงใต้น้ำ 3 หน ฟ้าฝนปีต่อไปถึงจะตกต้องตามฤดูกาลบริบูรณ์ ซึ่งประชาชนพลเมือง อยู่เย็นเป็นสุข ผู้อัญเชิญจะต้องอธิษฐานขอพรขณะที่อัญเชิญลงสรงน้ำ ฯลฯ

            นอกจากพิธีการดังกล่าวแล้ว ถึงวันเทศกาลสงกรานต์ประจำปี ฝ่ายบ้านเมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานพร้อมหัวหน้าส่วนราชการทุกฝ่าย และข้าราชการ ทุกระดับตลอดจนประชาชนพลเมืองในจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดให้มีขบวนแห่อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาพระองค์นี้ ไปทำพิธีสรงน้ำ ณ ปรำพิธี สนามหน้าศาลากลางจังหวัดอยู่หลายปี ครั้นต่อมางานประเพณีเทศบาลเป็นเจ้าหน้าที่จึงได้นำไปจัดทำพิธีสรงน้ำ ที่สนามหน้าสำนักงานเทศบาลเป็นประจำ ตลอดมาจนปัจจุบันนี้


 

           สำหรับประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ในช่วงเช้า ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  จะกระทำพิธี บวงสรวงต่อเทพยดาอารักษ์ ที่ปกปักรักษาพระพุทธรูป คู่บ้านคู่เมือง ของชาวเพชรบูรณ์ นี้ไว้ จากนั้นในช่วงบ่าย ก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ขึ้นประดิษฐานบน รถบุษบก ที่มีการตบแต่ง อย่างสวยงาม และแห่แหนไปตามถนน ภายในเขตเทศบาลเมือง เพชรบูรณ์ พร้อมกับมีขบวนแห่ตามโบราณประเพณี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อม ข้าราชการ และคหบดี อีกจำนวน 4 คน ที่จะร่วมประกอบพิธีกรรมอุ้มพระดำน้ำ จะแต่งกาย ในชุดเจ้าเมืองโบราณ และเสนาอำมาตย์นำขบวนอัญเชิญ พระพุทธมหาธรรม ราชา จึงนับว่า เป็นขบวนแห่ทางบก ที่สวยงามตระการตาอย่างยิ่ง  หลังจากนั้นในช่วงเช้า ของวันต่อมา  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  ซึ่งเปรียบเหมือนเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ ก็จะทำพิธีอัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชา แห่แหนไปตามลำน้ำป่าสัก เพื่อไปประกอบ พิธีกรรม ประเพณี ศักดิ์สิทธิ์  "อุ้มพระดำน้ำ"  กลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณหน้าวัดโบสถ์ ชนะมาร สถานที่พบ พระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรก โดยจะมีการจัดขบวนแห่ทางน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยขบวนเรือ ที่ตบแต่งกันอย่างสวยงาม ร่วมอัญเชิญกันอย่างคับคั่ง 

          ในช่วงเวลากลางคืน คณะผู้จัดงานฯ จังหวัดเพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์  ได้เตรียมการจัดแสดงแสงสีเสียง ตำนานประเพณี อุ้มพระดำน้ำขึ้นทุกคืน  ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมกันนี้ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต ได้ให้การสนับสนุน จัดงานเทศกาลอาหารอร่อยขึ้น ที่บริเวณ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ  ตลอดช่วงการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ  ในขณะที่ทางสถานศึกษาภายในจังหวัด ต่างจัดชุดแสดงร่วมประกอบกันอย่างคับคั่งอีกด้วย จึงนับได้ว่างานประเพณี  "อุ้มพระดำน้ำ"  ของจังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากจะยังคงความเป็นเอกลักษณ์ สมกับที่ขึ้นชื่อว่า  "เป็นประเพณีเพียงหนึ่งเดียวในโลก"  ไว้แล้ว  ยังสะท้อนให้เห็นความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกัน ของชาวเพชรบูรณ์ ที่ต้องการสืบทอด  และรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันนี้ไว้ อย่างทรงคุณค่าตลอดกาลนาน

พระพุทธมหาธรรมราชาบูชิต

            ชุดการแสดงชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่จัดขึ้น เพื่อขอบารมีแห่งพระพุทธมหาธรรมราชาประทานฝน และความร่มเย็นให้ชาวเพชรบูรณ์ ภาควิชานาฏศิลป์และภาควิชาภาษาไทย จึงได้ร่วมกันคิดค้นสร้างสรรค์ ชุดการแสดงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพร มันตะสูตร แพ่งพิพัฒนได้ร้อยกรองคำร้องเพื่อนำไปประดิษฐ์ท่ารำ อาจารย์กมล ประดิษฐ์ท่ารำ อาจารย์ช่วงวิทย เทียนศรี อำนวยเพลง

 เพลงเหาะ

              "พระมหาธรรมราชาผู้ทรงศรี ชาวเพชรบูรณ์ปรีดิ์เปรมเกษมศานติ์โยงสายใยใจชาวเพชร ก่องเก็จกาญจน์ เป็นวิญญาณชีวิตผ่องของเพชรบูรณ์ ประดิษฐานวัดไตรภูมิมาเก่าก่อน เกิดเดือดร้อน สูญหายให้วายวุ่นเที่ยวเสาะหา มาพบ ด้วยเป็นบุญอยู่สายน้ำ อุ่นเห็น จึงเย็นใจ"

 เพลงสรภัญญะ

"แรมสิบห้าค่ำ เดือนสิบ
ดาวกระพริบ นภาใส
ประเพณีสรง คงคาลัย
สักการะ ประจงประจำ
พ่อเมือง เดินนำหน้า
อุ้มพระมาดำน้ำ
ประชาชน คลาคล่ำ
ร่วมขบวน แห่แหน
พระไตรรัตน์ ผู้ทรงฤทธิ์
เทพไทสถิต ประจำแท่น
ดลให้คลาย หายคับแค้น
ปกแดน ป้องด้าว ชาวเมือง"

เพลงแมลงวันทอง

"ขอพรเพ็ญ ร่วมเย็นพร้อม น้อมนมัส
ดลขจัดทุกข์ภัย ร้ายทุกเรื่อง
เพชรบูรณ์พูนเพชร มลังเมลือง
ชนทั้งเมือง สุขหรรษา สถาพร

เพลงตะบองกัน-รัว

             การแสดงชุดนี้ ใช้เครื่องแต่งกายยืน เครื่อง พระ นาง มือถือกิ่งไม้ประกอบการแสดง เพลงและดนตรีได้รับการวางเพลง จากอาจารย์ช่วงวิทย์ เทียนศรี สถาบันราชภัฎเพชรบูรณ์